วันพุธที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2554

Clarinet เครื่องดนตรีที่ฉันรัก



ต้นกำเนิดของ คลาริเน็ต-Clarinet

ใครหลายคนคงเคยได้ยินเสียงอันไพเราะเสนาะหูจากเครื่องดนตรีที่ชื่อ คลาริเน็ต แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ประวัติความเป็นมาว่ากว่าจะมาบรรเลงเสียงเพลงอันไพเราะขับกล่อมให้เราฟังนั้น คลาริเน็ตต้องพัฒนาผ่านกาลเวลามายาวนานสักแค่ไหนถึงจะมาเป็นคลาริเน็ตดังเช่นรูปแบบในปัจจุบันอย่างที่เราเห็น...





สืบสาวต้นกำเนิดของ คลาริเน็ต-Clarinet ต้องย้อนไปถึงยุคอียิปต์โบราณ ประมาณ 3,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช ยามนั้นมีเครื่องเป่าหนึ่งชื่อว่า Memet ทำจากไม้ แล้วเหลาที่ปลายลำตัวเครื่องให้เป็นลิ้น ต่อมาราว 2,000 ปีที่แล้ว มีเครื่องดนตรีชื่อ ชาลูโม-Chalumeau เกิดขึ้น บรรเลงเรื่อยมาอีกเป็นพันปี กระทั่งช่วงค.ศ.1690 นายเดนเนอร์ แห่งเมืองนูเรมเบิร์ก เยอรมนี ได้ดัดแปลงแล้วเรียกชื่อเป็น คลาริเน็ต จากนั้นก็มีผู้พัฒนาการต่อมาเรื่อยๆ

จากที่เป็นรูเปล่าๆ ไม่มีคีย์ หรือมีแค่ 2-3 คีย์ ถึงช่วง ค.ศ.1800 คลาริเน็ตมีคีย์เพิ่มเป็น 5-6 คีย์ ค.ศ.1812 ไอวาน มุลเลอร์ ได้ประดิษฐ์เป็น 13 คีย์ เพื่อให้เล่นเพลงได้หลากหลายขึ้น และเป็นผู้ที่หันลิ้นมาไว้ด้านล่างของปากเป่าแบบปัจจุบัน

ต่อมา ค.ศ.1843 โกลส และ บัฟเฟต์ ครูสอนคลาริเนตในปารีสได้เอาระบบ Boehm ของฟลุตมาใช้กับคลาริเน็ต ตามด้วยการเพิ่มคีย์อีก 5-6 คีย์ โดย คาร์ล บาร์มานน์ ในค.ศ.1862 และการออกแบบใหม่ในต้นศตวรรษที่ 20 ค.ศ.1912 โดย โอสการ์ โอห์เบอร์

คำ Clarinet มาจากภาษาอิตาเลียน คลาริน่า-Clarina แปลว่า แตร ใส่คำวิเศษตามหลัง คือ -et แปลว่าเล็กๆ รวมเป็น คลาริเน็ต แปลว่า แตรอันเล็กๆ

คลาริเน็ตเป็นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องเป่าลมไม้ ทรงกระบอกตรง ลำโพงบานออก และมีที่เป่าเป็นลิ้นเดี่ยว เล่นโดยใช้นิ้วปิดเปิดรูและกดคีย์ต่างๆ เกิดเสียงโดยการเป่าลมผ่านช่องแคบๆ ให้เข้าไปภายในท่อซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวขยายเสียงให้ดังขึ้น ลักษณะของเสียงที่เกิดขึ้นจะแตกต่างกันตามขนาดของท่อ ความสั้นยาวของท่อ และความแรงของลมที่เป่าเข้าไปภายในท่อ

ลำตัวปี่คลาริเน็ตทำด้วยโลหะและไม้ หรือบางครั้งก็ทำด้วยยางหรือพลาสติก ลำตัวปี่กลวง เปลี่ยนระดับเสียงโดยใช้นิ้วและคีย์โลหะบุนวมปิดเกิดรู ปี่

คลาริเน็ตมีรูปร่างคล้ายกับปี่โอโบ แตกต่างกันที่ปากเป่า (กำพวด) คุณภาพเสียงมีช่วงเสียงกว้างและทุ้มลึก มีนิ้วพิเศษที่ทำเสียงได้สูงมากเป็นพิเศษ

ตระกูลของคลาริเน็ตประกอบด้วย

1.บีแฟล็ตคลาริเน็ต (Bb CLARINET) คลาริเน็ตในระดับเสียงบีแฟล็ตได้ถูกใช้เป็นตัวแทนเมื่อมีการกล่าวถึงคลาริเน็ตเสมอ



2.เบสคลาริเน็ต (BASS CLARINET) คุณภาพเสียงกว้างและลึกกว่าคลาริเน็ตในระดับเสียงอื่นๆ เหมาะที่จะนำไปใช้บรรเลงแนวทำนองในระดับเสียงต่ำ อย่างไรก็ตาม เสียงสูงก็สามารถบรรเลงได้เช่นกัน แต่ใช้น้อยมาก ลักษณะเด่นของเบสคลาริเน็ตอยู่ที่ข้อต่อ กำพวดจะเป็นรูปโค้งงอ ปากลำโพงทำด้วยโลหะ งอย้อนขึ้นมาคล้ายกับแซกโซโฟน



3.อัลโตคลาริเน็ต (ALTO CLARINET) ขนาดใหญ่และยาวกว่าคลาริเน็ตอื่นๆ ระดับเสียงต่ำกว่าบีแฟล็ตคลาริเน็ตอยู่คู่ 5 เพอร์เฟกต์ ปากลำโพงทำด้วยโลหะ โค้งงอย้อนขึ้นเหมือนแซ็กโซโฟน



4.อีแฟล็ตคลาริเน็ต (Eb CLARINE) ขนาดเล็กกว่าบีแฟล็ตคลาริเน็ต ระดับเสียงสูงกว่าคู่ 5 เพอร์เฟกต์

ความไพเราะของดนตรีหาได้เกิดจากเครื่องดนตรีราคาแพง หาแต่เกิดจากความสามารถและความตั้งใจในการถ่ายทอดท่วงทำนองของดนตรีจากความรู้สึกของผู้ที่บรรเลงเป็นสำคัญ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น